ยุทธศาสตร์ชาติ กับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์
โดย ผศ.พิเศษ พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กุลนิเทศ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
จะเห็นได้ว่าการบริหารประเทศได้กำหนดทิศทางที่มุ่งให้เกิด ประสิทธิภาพของการให้บริการประชาชนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสร้างความเป็นธรรมและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกระดับ สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 4 คือ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 6 คือ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในภาครัฐมีวัตถุประสงค์ให้พัฒนาระบบและกระบวนการของกฎหมายให้สามารถอำนวยความสะดวกด้วยความรวดเร็ว เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งของประเทศจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนทางด้านกระบวนการยุติธรรมและเทคโนโลยีที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องซึ่งกันและกันภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดังกล่าว
การให้ความเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติธรรม ซึ่งหมายถึงการปกครองโดยกฎหมายหรือการปกครองที่มีกฎหมายเป็นใหญ่ รัฐซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นกันจึงมีหน้าที่จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกล่วงละเมิดโดยบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยบุคคลหรือองค์กรของรัฐเอง
กระบวนการยุติธรรมอันเป็นกลไกหลักในการบังคับใช้กฎหมายจึงมีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและในการดำเนินภารกิจนี้อย่างมีคุณภาพ จึงเริ่มต้นจากการที่กระบวนการยุติธรรมต้องไม่เป็นกระบวนการที่ไปคุกคามหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียเอง
ทัศนคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรม ต้องมิใช่เป็นมุมมองของเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะ"ผู้ปกครอง" ที่หยิบยื่นให้กับประชาชนในฐานะ "ผู้อยู่ใต้ปกครอง" แต่ต้องเป็นมุมมองที่ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" อันเป็นพื้นฐานสำคัญของสิทธิและเสรีภาพทั้งปวง กระบวนการยุติธรรมต้องมีปรัชญาพื้นฐานในการทำงานที่อยู่เคียงข้างกับปัจเจกชน และพร้อมที่จะให้การพิทักษ์รักษาคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ต่างๆ ที่กฎหมายอันชอบธรรมให้การรับรองและคุ้มครองจากการล่วงละเมิด อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการกระทำของปัจเจกชนด้วยกัน และจากการกระทำของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย
กระบวนการยุติธรรมจะรักษาความยุติธรรมได้มากน้อยเพียงใด นอกจากจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาและลักษณะของกฎหมาย ระบบ สถาบัน และพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทุกองค์กรแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ อีกด้วย
กล่าวคือแม้จะมีกฎหมายที่ยุติธรรม ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษามีความรู้ทางกฎหมายอย่างแตกฉาน และมีใจเที่ยงธรรมสักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าระบบการเมืองเป็นเผด็จการ เศรษฐกิจสังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และปกคลุมด้วยอิทธิพลต่างๆ นานาประการ กระบวนการและสถาบันยุติธรรมย่อมไม่อาจให้ความยุติธรรมได้เท่าที่ควร แล้วคนที่อยู่ในระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจได้รับความยุติธรรมน้อยที่สุด ทั้งที่เป็นบุคคลและพลเมืองที่มีสิทธิในกระบวนยุติธรรมเหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ ของสังคม
รัฐจึงต้องหาแนวทางหรือกระบวนการใดที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว อันจะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมทุกระดับ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้กับประชาชนทุกคนในชาติ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีทางในการดำเนินชีวิต สังคมโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้พรมแดน มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้าแบบก้าวกระโดด ประชาชนในสังคมได้รับความสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอาชญากรกลับนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการกระทำผิด ทำให้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงทั้งรูปแบบและวิธีการ ปัญหาอาชญากรรมจึงมีรูปแบบที่แยบยลซับซ้อนและเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นการยากต่อการป้องกันปราบปรามการแก้ปัญหาทางอาชญากรรมจึงเป็นภาระที่หนักหน่วงของหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม การสอบสวน โดยมุ่งเน้นพยานบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำเอาหลักการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมาใช้หรือนำมาใช้น้อยมาก ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างมีข้อสงสัยในความยุติธรรม
การที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มาตรวจพิสูจน์พยานเอกสารและพยานวัตถุอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ต้องหาได้รับการยกฟ้องหรือปล่อยตัวในชั้นศาล อันเนื่องมาจากการขาดพยานหลักฐานอย่างเพียงพอที่ศาลจะเชื่อถือและยอมรับฟังได้
การรวบรวมและการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานเพื่อติดตามจับกุมและใช้ยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหานั้น ผลการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดังกล่าวจะให้น้ำหนักที่ชัดเจนแน่นอนมากกว่าพยานบุคคล ทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายตรวจพิสูจน์ จะทำให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเสมอภาคทางสังคมให้กับประชาชนทุกระดับชั้น
ระบบการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการค้นหาความจริงในทางคดี ประสิทธิภาพ มาตรฐาน ความถูกต้อง และความเป็นกลางของการพิสูจน์หลักฐาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องมีแนวโน้มเชิงพฤติกรรมในการใช้ผลการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณาให้ความจริงต่อรูปคดีที่เกิดขึ้น โดยค้นหาความจริงของเรื่องที่ได้สืบสวนสอบสวนอย่างเป็นกลางและยุติธรรม จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษแก่ผู้ต้องหา "มิใช่นำเอาผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานมาใช้เฉพาะผลที่เป็นโทษแก่ผู้ต้องหาแต่เพียงอย่างเดียว"
นิติวิทยาศาสตร์จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นธรรมและเที่ยงตรง เป็นกลไกในการนำกฎหมายไปบังคับใช้ หากกระบวนการยุติธรรมสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ก็ย่อมมีผลโดยตรงต่อการเสริมสร้างความเคารพในกฎหมายและหลักนิติธรรม ในทางกลับกัน
หากกระบวนการยุติธรรมขาดประสิทธิภาพ หรือให้ความเป็นธรรมแบบเลือกปฏิบัติ หรือละเมิดสิทธิของบุคคล ก็จะทำให้ประชาชนในสังคมเสื่อมความศรัทธาต่อกฎหมายและหลักนิติธรรม ซึ่งจะเกิดปัญหาต่อรัฐและกระบวนการยุติธรรมในสังคมนั้นๆ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้กำหนดไว้ในการนำไปปฏิบัติจริง รัฐบาลจึงต้องคำนึงถึงในเรื่องดังกล่าวและนำเอากระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคของสังคม รวมทั้งการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐอย่างจริงจังต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2561 หน้า 15